เที่ยวปราสาทปราสาทสึรุกะ (Tsuruga Castle) จังหวัดฟุคุชิมะ (Fukushima)
“ปราสาทสึรุกะ (Tsuruga Castle)” หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ปราสาทนกกระเรียน”
ถ้ามาเที่ยวในช่วงฤดูหนาว ก็จะเห็นทางขวามือเป็นคูน้ำที่ล้อมรอบพื้นที่ปราสาทซึ่งกลายเป็นน้ำแข็ง เรียกได้ว่าปราสาทแห่งนี้ย้อมไปด้วยหิมะสีขาวโพลน เป็นบรรยากาศที่จะเห็นได้เฉพาะฤดูกาลนี้เท่านั้นค่ะ
เดินเข้าไปตามทางเข้าของกำแพง ด้านข้างเต็มไปด้วยหิมะที่กองสูงเกือบเท่าความสูงขอแอดมินเอง อากาศตอนเช้าค่อนข้างเย็น แต่พอลมสงบก็จะไม่ค่อยรู้สึกหนาวเท่าไหร่ค่ะ
วินาทีแรกที่ได้เห็นปราสาทก็จะได้บรรยากาศ ประหนึ่งได้พบวิมานสวรรค์ก็ว่าได้ ด้วยตัวอาคารสีขาวสะอาดตา ประกอบกับหลังคาที่ปกคลุมด้วยสีขาวของหิมะซึ่งสะท้อนแสงแดดยามสายที่ทอดตรงเข้ามารับกับมุมสายตาพอดิบพอดี เรียกว่าองค์ประกอบทุกอย่างควรค่าแก่การชื่นชมอย่างยิ่งค่ะ
เดินมาอีกนิดคุณไกด์ (เป็นไกด์อาสาของท้องถิ่น) บอกว่าจุดนี้หลายคนนิยมมาถ่ายรูปกันค่ะ หากเพ่งดูดีๆ แล้วจะเห็นว่ามีหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งที่เป็นรูปหัวใจ เขาจึงจัดให้เป็นจุดถ่ายรูปไปโดยปริยาย
กว่าจะเดินมาถึงทางเข้าตัวปราสาทจริงๆ ก็กินเวลาไปเกือบ 20 นาทีแล้ว เพราะมัวแต่ถ่ายรูป ฮา~ ก่อนจะเข้าไปชมปราสาทจริงๆ ก็ต้องซื้อบัตรผ่านก่อน และจะมีคนตรวจตั๋วที่ตรงทางเข้าอีกรอบค่ะ
ราคาตั๋วเข้าชมปราสาท
ผู้ใหญ่ราคา 510 เยน (รวมตั๋วเข้า Rinkaku Tea House)
ผู้ใหญ่ราคา 410 (ตั๋วเข้าปราสาทอย่างเดียว)
เด็ก (อายุ 6-15 ปี) ราคา 150 เยน (รวมตั๋วเข้า Rinkaku Tea House)
เมื่อถึงทางเข้านอกจากจะมีการตรวจตั๋วแล้ว เจ้าหน้าที่ยังคอยแจ้งว่าไม่สามารถบันทึกภาพด้านในปราสาทได้ค่ะ ดังนั้นคนที่มาเที่ยวตรงจุดนี้ก็อย่าลืมเก็บกล้องด้วยนะคะ
ซึ่งด้านในก็เป็นพิพิธภัณฑ์ทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมถึงมีการจัดแสดงวัตถุโบราณและหลักฐานต่างๆ ส่วนชั้นบนสุดนั้นสามารถชมวิวทิวทัศน์ของเทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งได้แบบ 365 องศาเลยค่ะ
เมื่อขึ้นไปยังจุดชมวิวแล้วมองลงมาด้านล่าง ก็จะมองเห็นส่วนต่างๆ ในบริเวณทั้งหมดของปราสาทพร้อมวิวทั่วทั้งเมืองแบบ 360 องศา ใครชอบจุดไหนเป็นพิเศษก็มีกล้องให้ส่องด้วยนะคะ แต่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็สวยจริงๆ เพราะเมืองนี้ล้อมรอบด้วยภูเขาจึงมีวิวทิวทัศน์ของภูเขาหิมะให้ชมทุกทิศทางค่ะ
ส่วนด้านล่างซึ่งเป็นอาคารยื่นออกมา ด้านในก็เป็นร้านขายของฝากมืองไอสุวากามัตซึ แนะนำให้ซื้อผลิตภัณฑ์วัวแดงค่ะ เพราะของเขาดังจริงๆ
จากปราสาทเดินไปยังเรือนชงชา Rinkaku Tea House มีระยะประมาณ 50 เมตร ช่วงหน้าหนาวก็จะเดินแข็งๆ หน่อยนะคะ ฮิ ฮิ แต่เมื่อเข้าบริเวณของเรือนชงชาเราจะได้เห็นสีเขียวขจีที่ไม่ค่อยได้เห็นในช่วงฤดูกาลนี้ค่ะ เห็นแล้วก็สดชื่นทุกที
เข้ามาบริเวณเรือนชงชา Rinkaku Tea House แล้วก็นำบัตรผ่านที่ได้มาตอนที่ซื้อบัตรเข้าปราสาทยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ แล้วก็เข้าไปเดินชมรอบๆ เรือนชงชา ในขณะที่เจ้าหน้าที่เขาจะเตรียมชาเอาไว้ให้เราค่ะ
เรือนชงชา Rinkaku Tea House เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ 8:30 – 17:00 น. (ประตูเปิดถึง 16:30 น.) มีค่าเข้า 200 เยน หรือซื้อตั๋วรวมกับค่าเข้าปราสาทก็อยู่ที่ 510 เยนสำหรับผู้ใหญ่ และ 150 เยน สำหรับเด็กค่ะ หากเราซื้อตั๋วแบบรวมมาอยู่แล้ว เพียงแค่ยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ ก็เข้าไปได้เลยค่ะ
ประตูเล็กๆ นี้มีความหมาย คือ เมื่อผ่านประตูนี้มาแล้ว นั่นหมายความว่าคุณจะเข้าสู่เขตของเรือนชงช้าอย่างแท้จริง (คล้ายกับการเสาโทริอิแสดงถึงการเข้าสู่ดินแดนของเทพเจ้า)
เข้ามาแล้วเราก็ต้องชำระตัวเราให้สะอาดค่ะ ล้างมือทั้งซ้ายและขวาแบบเดียวกับการล้างมือสำหรับการไปศาลเจ้าญี่ปุ่น คือ จับกระบวยด้วยมือขวาตักให้เต็มแล้วล้างมือซ้ายและตามด้วยมือขวา จากนั้นบ้วนปากโดยเทน้ำส่วนหนึ่งใส่มือซ้าย เอามารองปากแล้วบ้วน
หลังจากนั้นล้างมือข้างซ้ายอีกรอบหนึ่งและทำความสะอาดกระบวยเป็นครั้งสุดท้าย ทุกขั้นตอนที่ว่ามาต้องทำด้วยน้ำภายใน 1 กระบวย ฉะนั้นจะเทน้ำแต่ละครั้งก็จอให้มีสตินะคะ
กว่าเราจะทำตามขั้นตอนเสร็จก็กินเวลาไปพักหนึ่ง (จะทำหรือไม่แล้วแต่ความตั้งใจค่ะ) ต่อจากนั้นเราก็จะได้ชมบ้านที่ใช้ชงชาจริงๆ สักทีค่ะ นี่คือเรือนสำหรับชงชาในสมัยก่อน ลักษณะเด่นของเรือนชงชาคือ ประตูที่สูงเพียงแค่ครึ่งตัวของคน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลดอาวุธของผู้ที่จะเข้าสู่เรือนชงชา เพื่อแสดงว่าในพิธีชงชาจะไม่มีการต่อสู้กัน
ด้านในของห้องชงชาเป็นห้องเสื่อทาทามิ ไม่กว้างไม่แคบ แต่ขอให้สังเกตด้านบนนะคะ จะมีตะขอเอาไว้เกี่ยวสายยึดกับกาน้ำร้อน ส่วนบนพื้นก็มีเสื่อทาทามิแผ่นเล็กๆ อยู่ ตรงนั้นสามารถเปิดออกและใส่เตาลงไปด้านล่างได้ พอจัดเต็มให้ครบเซ็ทแล้ว ห้องธรรมดาๆ นี้ก็พร้อมจะให้เป็นที่ชงชาแล้วจ้ะ (ช่างคิดจริงๆ) ชื่นชมกันมาพักใหญ่ก็ได้เวลาชิมชาเขียวที่พึ่งชงเสร็จใหม่ๆ ค่ะ
โซนนี้เรามารถดื่มชาเขียวไปพร้อมๆ กับการชมธรรมชาติของสวนญี่ปุ่นได้ด้วย การดื่มชาเขียวนั้นมีวิธีการดื่มที่แยบยลอยู่นะคะ ขั้นแรกให้ผ่าขนม (ที่จัดมาให้) ออกเป็น 2 ส่วน ทานครึ่งหนึ่งก่อน อาจจะหวานไปหน่อย จากนั้นค่อยจิบชาตามค่ะ ความขมของชาจะช่วยให้รสหวานในปากเบาลง ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ชารสชาติกลมกล่อมมากขึ้น หลังจากนั้นก็กินขนมส่วนที่เหลือ แล้วดื่มชาตามจนหมดค่ะ
รสชาติที่เคยขมของชาจะอ่อนลงกว่าเดิม และขนมจะหวานน้อยลงกว่าเดิมด้วยเช่นกัน และนี่คือหนึ่งเหตุผลที่ขนมญี่ปุ่นมีรสชาติหวานมาก เนื่องจากว่ามักจะทานกับชาร้อนๆ เป็นของว่างมากกว่าการทานขนมเพียงอย่างเดียวค่ะ
แถมให้อีกนิดด้วยบรรยากาศของปราสาทสึรุกะ (Tsuruga Castle) ในตอนกลางคืนค่ะ เนื่องจากว่าในฤดูหนาวที่ปราสาทจะมีการจัดแสดงไฟเอาไว้ค่ะ อีกทั้งยังมีงานเทศกาล Painted Candle Festival ที่จะจัดขึ้นปีละครั้ง เป็นงานแสดงไฟที่เราจะได้เห็นแสงไฟอบอุ่นจากเทียนที่ประดับไว้ทั่วบริเวณปราสาทค่ะ แต่ถึงแม้ครั้งนี้จะไม่มีแสงจากเทียนแต่แสงสีน้ำเงินอมม่วงก็ให้ความรู้สึกประทับใจไปอีกแบบหนึ่งค่ะ
ที่มา : japankakkoii.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น