ไปทำบะหมี่ถ้วย 1 เดียวในโลก ที่ “พิพิธภัณฑ์บะหมี่ถ้วย NISSIN” โอซาก้า
“Next station… Ikeda station” เสียงประกาศจากรถไฟสาย Hankyu ที่เรานั่งจากสถานี Umeda ประกาศก่อนถึงสถานีที่เราต้องลง ที่ ๆ เราจะไปวันนี้มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า “The Momofuku Ando Instant Ramen Museum”
หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “พิพิธภัณฑ์บะหมี่ถ้วย Nissin” หรือ “พิพิธภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ผมจะขอเรียกง่าย ๆ ว่า “พิพิธภัณฑ์บะหมี่ถ้วย” แล้วกันนะ ส่วนใหญ่คนจะรู้จักกันว่าตั้งอยู่ที่เมือง โยโกฮาม่า….แต่ว่าวันนี้เราจะพาไปเที่ยวชมกันที่ “โอซาก้า”
การเดินทางนั้นไปไม่ยากเลย เราสามารถนั่งรถไฟสาย Hankyu Takarazuka Line จากสถานี Umeda ใช้เวลาประมาณ 20 กว่านาทีเท่านั้นเอง ไม่ต้องแวะไปต่อสายที่ไหน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 270 เยน แต่สำหรับใครที่ถือบัตร Kansai Thru Pass (KTP) ใช้ได้เลยครับไม่ต้องเสียค่าตั๋วอีก รถไฟสายนี้มีทั้งแบบธรรมดา (Local) และแบบด่วน (limited) แต่สถานีนี้เป็นสถานีใหญ่ ไม่มีปัญหา จอดทุกสาย
เมื่อลงสถานีแล้วก็เดินต่อมานิดนึงจะเจอปากทาง มีป้ายบอกชัดเจนว่า เดินเข้าไปแค่ 300 เมตรเอง
พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการในช่วงเวลาตั้งแต่ 9:30 a.m. – 4:00 p.m. (เข้าชมได้ก่อน 3:30 p.m.) และปิดทุกวันอังคาร และช่วงปีใหม่ ข้อแตกต่างของที่นี่กับที่โยโกฮาม่าคือ ไม่เสียค่าเข้าชมครับ ที่โยโกฮาม่าต้องเสียค่าเข้าชม 500 เยน ทางเข้าเป็นเรือนกระจก อาคารมีด้วยกัน 2 ชั้น
กิจกรรมที่นี่ นอกจะเดินดูประวัติความเป็นมาของบะหมี่ถ้วยแล้ว เราสามารถทำบะหมี่ถ้วยของเราเอง และเอากลับไปเป็นที่ระลึกได้ รวมทั้ง workshop ทำเส้นบะหมี่อีกด้วย (ในส่วนของ workshop ต้องมีการจองล่วงหน้า และมีค่าใช้จ่ายด้วยนะ)
พอเข้ามาก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำเรา และไม่ต้องห่วง มีเจ้าหน้าที่ ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเราด้วย
พอเรามาถึงก็เริ่มมีคิวอยู่พอสมควร เป็นคิวที่กำลังยืนต่อแถวซื้อถ้วย เพื่อจะเอาไปทำบะหมีถ้วย เรามากันเช้าครับ แถวเลยยังมีไม่มาก ก็ค่อย ๆ ต่อแถวกันไป
ระหว่างนั้นก็มีข้อแนะนำให้อ่านกันเล็กน้อย เป็นข้อควรจำง่าย ๆ ประมาณนี้
- ควรฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอลก่อนจะทำ
- ตัวถ้วยจะมีฝาให้ เพื่อความสะอาด อย่าเอาฝาออกในขณะที่วาดรูป
- กรุณาใส่วันเดือนปีที่ทำเอาไว้ด้วย เพราะตัวบะหมี่จะมีวันหมดอายุประมาณ 1 เดือน (แต่สุดท้ายกว่าผมจะเอามากินก็ผ่านไปหลายเดือนนะ ก็ยังแซ่บอยู่ ไม่ท้องเสียแต่อย่างใด)
- ให้วาดรูปภายในเส้นแดงที่กำหนดไว้
- ให้ใช้ปากกาที่เตรียมไว้ให้เท่านั้น (อันนี้คือค่อนข้างย้ำเลย)
มีขั้นตอนอธิบายเป็นรูปภาพเข้าใจกันได้ง่าย ๆ อยู่ 8 ขั้นตอน แขวนอยู่ด้านบน
มองไปทางด้านข้าง ก็จะเห็นหลาย ๆ คนกำลังตั้งใจวาดรูปบนถ้วยตัวเองอย่างตั้งใจ มีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก แล้วก็นักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ ก็มี พร้อมเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเราอยู่ตามโต๊ะ เป็นคนคอยเรียกเราให้ไปนั่งตรงที่ว่าง ๆ บางกลุ่มมากันเป็นครอบครัวเลย (ขออนุญาตปิดบังใบหน้าน้อง ๆ หนู ๆ นะครับ ที่ญี่ปุ่นค่อนข้างเคร่งเรื่องนี้มาก เค้าจะไม่ให้ถ่ายรูปเด็ก ๆ กันง่าย ๆ มันเกี่ยวกับความปลอดภัย เคยเห็นว่าเกี่ยวกับการลักพาตัวด้วย)
มาถึงคิวเราก็มาหยอดเงินเพื่อรับถ้วยเปล่าไปวาดหล่ะครับ ราคาค่าถ้วยก็อยู่ที่ 300 เยน ก็ประมาณ 90 กว่าบาท หลังจากนั้นก็ไปทำความสะอาดมือ ด้วยเครื่องพ่นแอลกอฮอล (รักความสะอาดจริง ๆ )
หลังจากได้ถ้วยมาแล้วก็ได้เวลาแสดงฝีมือกันหล่ะ มีปากกาให้อยู่กล่องนึง หลากหลายสี ใส่จินตนาการได้เต็มที่ฮะ วาดตามใจชอบ แต่ให้อยู่ระหว่างเส้นแดงบนและล่างนะครับ (น่าจะเพราะจะได้ไม่เป็นปัญหาระหว่างแพ็ค)
แต่สำหรับใครที่คิดไม่ออกว่าจะวาดรูปอะไรดี เค้าก็มีแบบลูกเจี๊ยบที่เป็นมาสคอทของนิสชินไว้ให้วาดตามด้วยนะครับ ซึ่งลูกเจี๊ยบนี้มีชื่อว่า “Hiyobo” ครับ มีรูปให้หลายแอคเลยแหล่ะ ว่าแล้วก็ลงมือกันเลย
จำได้ว่าตอนเรียนวิชาศิลปะเราก็เก่งไม่ใช่ย่อย แต่ว่าทำไมตอนโตถึงส่งคืนอาจารย์หมดนะ ทำใจหน่อยแล้วกันฮะ ดูให้มันเหมือนน้อง Hiyobo หน่อยแล้วกันนะ
ใช้เวลาไม่นานครับ เราก็ได้บะหมี่ถ้วยที่เป็นลายของเราคนเดียวแล้ว แอบชำเลืองมองของคนอื่น ลายสวยกว่าเยอะ ประดิษฐ์กันสุดฤทธิ์ เราได้แต่ถือแบบแอบ ๆ เอาไปแพ็ค แต่ก็เอาน่า บะหมี่แบบนี้มีถ้วยเดียวในโลกนะ
หลังจากเราวาดลวดลายถ้วยของเราแล้ว ก็ได้เวลาไปใส่บะหมี่ของเรากัน ง่าย ๆ เลยครับ เดินไปต่อแถวตามไลน์การผลิตกันเลย เริ่มจากบรรจุเส้น วิธีก็คือเอาถ้วยของเรา คว่ำครอบบะหมี่ที่วางอยู่บนแท่น แล้วเราก็มีหน้าที่หมุนเพื่ออัดบะหมี่ของเราเข้าไปในถ้วย ตรงนี้เป็นวิธีการใส่เส้นจริง ๆ นะครับ เพราะก่อนหน้านี้ใช้เครื่องยังไงก็ใส่เส้นไม่พอดี เลยต้องใช้วิธีครอบเอาแล้วค่อยอัดเข้าไป
พอใส่เส้นแล้ว ขั้นต่อไปก็คือ ไปเลือกน้ำซุปของบะหมี่เรามีให้เลือก 4 รส คือแบบ Cup Noodles รส Original หรือก็คือน้ำซุปไก่, รสซีฟู๊ด, รสแกงกะหรี่, รสพริกและมะเขือเทศ (Chilli Tomato ซึ่งรสชาติเป็นยังไง อันนี้เดาไม่ถูกจริง ๆ )
ส่วนเครื่องที่ใส่ก็มีอยู่หลายอย่างนะ ประมาณ 10 กว่าอย่าง แต่เราเลือกได้แค่ 4 อย่างเอง (อยากใส่เพิ่มอ่ะ น่าจะไม่ได้หล่ะนะ)
หลังจากนั้นก็จะทำการปิดฝาด้วยเครื่อง สังเกตได้ว่า ตั้งแต่แรกจนถึงขั้นตอนนี้พนักงานจะใช้มือให้น้อยที่สุด ใส่ถุงมือตลอด รักษาความสะอาดอย่างดีเยี่ยม
หลังจากนั้นก็จะไปเข้าขั้นตอนการห่อพลาสติก (Wrap) แล้วอบด้วยความร้อนเพื่อให้พลาสติกห่อเข้ารูปได้แน่นขึ้น
หลังจากนี้เราจะได้ถุงพลาสติกมาใบนึง พร้อมกับเชือกอีกเส้นนึง ถุงใบนี้ จะเป็นถุงพิเศษที่พอเป่าลมเข้าไปก็จะพองตัวขึ้น ให้เราเอาบะหมี่ถ้วยวางเข้าไปให้ได้ตำแหน่งก่อน แล้วค่อยเอาลมเข้า เครื่องมือในการเอาลมเข้าก็ไม่ใช่อะไร เหมือนเครื่องอัดลมลูกโป่งแหล่ะครับ วิธีการทำก็ง่าย ๆ มีเป็นรูปภาพอธิบายทำตามได้ง่าย ๆ เลย มีทริกอยู่นิดนึงตรงที่ เวลาที่เราเอาถ้วยบะหมี่ใส่เข้าไป ไม่ต้องใส่สุดนะครับ วางประมาณกลาง ๆ ถุง เป่าลมเข้าไปนิดก่อนให้พองนิด ๆ แล้วค่อย ๆ จัด ถ้าไม่ได้ก็เอาลมออกแล้วจัดใหม่ครับ
วิธีเอาลมออก็ไม่ยากครับ แค่หาหลอดกาแฟยาว ๆ หน่อย ใส่เข้าไปตรงรูที่เราเอาลมเข้าแล้วก็ค่อย ๆ บีบเอาลมออกก็ใช้ได้แล้ว ยังไงเราก็ต้องทำครับเพราะตอนขึ้นเครื่องเค้าไม่ให้เอาขึ้นทั้ง ๆ ที่พองลมอย่างนี้นะ พอกลับถึงบ้านค่อยเอาลมใส่เข้าไปใหม่ ถ้าไม่มีเครื่องเปล่าลมลูกโป่ง ก็หาพวกตัวเป่าลมทำความสะอาดกล้องก็ใช้งานได้เหมือนกันครับ
แค่นี้เราก็ได้ “บะหมี่ถ้วย 1 เดียวในโลก” ของตัวเองแล้ว ใช้เวลาไม่นานครับสนุกดี แล้วเราก็จะได้บะหมี่ในถุงที่เหมือนหมอนเปล่าลมน่ารัก ๆ กลับบ้านละ
เสร็จแล้วเราก็ลงมาข้างล่างครับ ไปเดินดูด้านในหน่อยว่ามีอะไรกันบ้าง เหลือบไปเห็นป้ายบอกคิวที่ตอนแรกเรามายังไม่ได้เปิดใช้งาน เพิ่งจะเป็นว่ามันเป็นตัวบอกเวลาว่าอีกกี่นาทีถึงจะได้ทำบะหมี่ถ้วยของตัวเอง เห็นตัวเลขแล้วอึ้งเลย เข้าใจแล้วหล่ะว่า ทำไมคุณป้าถึงให้ขึ้นไปทำก่อนจะมาเดินตรงนี้ ชั้นล่างใช้เวลาประมาณ 50 นาทีกว่าจะทำเสร็จ ส่วนชั้น 2 ประมาณ 60 นาที
จุดแรกที่เราจะเจอก่อนคือ Instant Noodles Tunnel หรือ อุโมงค์บะหมี่ถ้วย เป็นที่แสดงผลิตภัณฑ์ของ Nissin ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งบะหมี่ถ้วยและบะหมี่ซอง อยู่ในกำแพงเรียงกันยาว โค้งขึ้นไปด้านบน ถึงขนาดต้องแหงนคอดูกันเลย จะมาถ่ายรูปเก๋ ๆ ตรงนี้ก็ดีไม่ใช่น้อย
ทางด้านข้าง ๆ จะเป็นเป็น แท่นทรงกลม มีปุ่มให้กด คาดว่าน่าจะเป็นเกมให้เล่น เกี่ยวกับบะหมี่ด้วยนี่แหล่ะ แต่เป็นภาษาญี่ปุ่นนะ เราเลยได้แต่มองผ่าน ๆ ดูไปก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน
ก่อนเข้าไปด้านใน จะเจอกับบะหมี่ถ้วยยักษ์ เป็นแบบจำลองของบะหมี่ถ้วยจริง ๆ ตามสัดส่วนนี้เป๊ะ หลาย ๆ คนที่มา ต้องมาขอถ่ายรูปคู่ด้วย….เราก็ไม่พลาดขอสักช๊อตนึง
เคยสงสัยกันมั้ยว่า ทำไมบะหมี่ถึงไม่ทำให้เต็ม ๆ ถ้วย ใส่แล้วเหมือนหมกเม็ดไม่ถึงก้นถ้วย เค้าคิดกันมานานละ ลองผิดลองถูกมาก็เยอะ เค้าคำนวณละว่า การใส่บะหมี่แค่นี้ พอเทน้ำร้อนถึงขีดแดงแล้ว มันจะไม่อืดจนทะลักถ้วยออกมา และส่วนใหญ่พวกผงปรุงรสมันจะไปนอนก้นถ้วย ถ้าใส่ให้บะหมี่อยู่ที่ก้นถ้วย มันจะคนได้ยากด้วยนะ
ผนังด้านข้าง ตกแต่งเป็นถ้วยบะหมี่เรียงต่อ ๆ กัน สำหรับใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้บะหมี่ถ้วย ชอบเป็นชีวิตจิตใจ เจอกันเป็นประจำทุกสิ้นเดือน จะลองเอาไปแต่งบ้านก็ได้นะ สวยดีเหมือนกัน และที่สำคัญเห็นอะไรมั้ย มีถ้วยที่เป็นธงชาติไทยด้วยนะ เข้าใจว่าเป็นรสต้มยำกุ้ง ของไทย แต่ก็ไม่ได้ลองกินดูนะ เลยบอกรสชาติไม่ได้
ที่น่าสนใจคือสถิติของการผลิตและจำหน่ายบะหมี่ถ้วย ทำเป็นแผนภาพง่าย ๆ ดูแล้วก็น่าตกใจเหมือนกัน ทุกวันนี้เรากินบะหมี่กันมากขนาดนี้เลยเหรอ 102,700,000,000 (อ่านว่า หนึ่งแสนสองพันเจ็ดร้อยล้านถ้วย) ในทุก ๆ ปี ประเทศไทยเราเป็นอันดับ 8 ประมาณ 30 ล้านถ้วย แต่กำลังคิดอยู่ว่า อันนี้เป็นตัวเลขจาก Nissin อย่างเดียวหรือเปล่า แล้วมาม่า ยำยำ ไวไว หล่ะ….
เดินย้อนมาอีกนิดนึง ก็จะมีในส่วนของเรื่องราวความเป็นมาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันหล่ะ
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนี้เกิดขึ้นมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะสภาวะสงคราม ข้าวยากหมากแพง (ญี่ปุ่นกินหมากมั้ย ?) อาหารอะไรก็แพง รัฐบาลก็แนะนำให้กินขนมปังที่ทำจากข้าวสาลี โดยรับการสนับสนุนจากอเมริกา แต่คุณลุง Momofuku Ando ก็คิดว่า ทำไมเราต้องกินขนมปังด้วย คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับการกินบะหมี่หรือราเมน ก็เลยลองทำบะหมี่ที่ทำกินเองง่าย ๆ ที่สะดวกในการกิน และราคาไม่แพง
ในบริเวณนี้ มีแบบจำลองของที่ทดลองทำบะหมี่ของคุณลุง Ando ด้วย คุณลุงทดลองทำบะหมี่ผสมน้ำซุปกระดูกไก่ ทอดในน้ำมัน และไล่ความชื้นออกไป พอจะกินก็เติมน้ำร้อนเข้าไปก็เป็นอันเสร็จ คืนสภาพเดิม ไม่ต้องปรุงอะไรเลย (ไอเดียดีจริง ๆ คุณลุง…สุดยอด)
แรก ๆ บะหมี่ก็เป็นซองแบบที่เราคุ้นเคยกันนี่แหล่ะ แล้วก็เริ่มผลิดออกมาเป็นแบบถ้วย เพื่อความสะดวกในการทาน พร้อมกับใส่เครื่องได้ทันทีเสร็จสับ ง่ายเข้าไปใหญ่
และพัฒนาการไปไกลจนกลายเป็นอาหารให้นักบินอวกาศได้ทานกันด้วย กว่าจะมาเป็นแบบนี้ก็ลองผิดลองถูกกันมาเยอะ เลอะเทอะกันไป กินก็ยากซะเหลือเกิน (ต้องไปดูวิดีโออธิบายกันเองว่าเป็นยังไง)
ในส่วนของการจัดแสดงมีรายละเอียดเยอะครับ แต่ผมเอามาบอกต่อส่วนหลัก ๆ เท่านั้น อยากรู้ต้องไปลองดูเองว่ามันสนุกขนาดไหน และถ้าใครเดินดูจนหิว เค้าก็มีโซนให้นั่งทาน กดบะหมี่มาต้มกันได้เลย…
ก่อนเราจะกลับก็ไม่พลาดที่จะลองแวะไปดูร้านของที่ระลึกกันหน่อย บอกเลยน่ารักทุกอย่าง (ราคาน่ารักมั้ย อีกเรื่องนึง) มีสินค้าที่มีน้อง ” Hiyobo” เต็มไปหมดเลย ใครแพ้สีเหลืองเป็นเสร็จ แฟนผมเองยังเสร็จผ้ากันเปื้อนไปตัวนึงเลย (ดูได้จากรูปด้านล่าง)
ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ครับ ตอนแรกก็นึกว่า ที่นี่เหมาะสำหรับเด็ก ๆ จะมากัน แต่ที่ไหนเลย ผู้ใหญ่อย่างเรายังสนุกไปด้วย เหมาะมากสำหรับครอบครัวไหน ที่พอจะมีเวลาว่างสักครึ่งวัน พาเด็ก ๆ มาสนุก ได้ความรู้ แถมยังได้ของฝากเก๋ ๆ กลับไปด้วย ไปมาก็สะดวก ไม่ลำบากเลยครับ
เห็นแล้วก็อยากให้บ้านเรามีพิพิธภัณฑ์ที่น่าเข้าแบบนี้เหมือนกัน ดูแล้วสร้างสรรดี หวังว่ารีวิวนี้จะเป็นข้อมูลสำหรับคนที่กำลังหาที่เที่ยวในโอซาก้านะ ถือเป็นตัวเลือกนึงที่ดีสำหรับใครที่อยากหากิจกรรมสำหรับครอบครัวเลยครับ
ที่มา : naisoop.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น